แคลเซียมพืช (Calcium-Ca.)

หน้าที่สำคัญของแคลเซียมในพืช

  • เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์
  • จำเป็นสำหรับการแบ่งขยายเซลล์พืช เพื่อสร้างการเติบโต
  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์
  • ควบคุมการลำเลียงสารอาหารเข้า-ออกจากเซลล์

 

หมวดหมู่:

รายละเอียดเพิ่มเติม

ประโยชน์ของธาตุอาหารรองแคลเซียม

แคลเซียมพืช (Calcium-Ca) เป็นธาตุอาหารอีกตัวหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อกระบวนสร้างการเติบโตติดดอกออกผลในพืชแทบทุกชนิด

แคลเซียมเป็นธาตุอาหารรอง (Secondary nutrients) เป็นธาตุอาหารที่มีความสำคัญในเรื่องการแบ่งเซลล์จำพวกเนื้อเยื่อเจริญไม่ว่าจะเป็นปลายยอด ปลายราก ใบอ่อน และส่งผลต่อการแตกตาของกิ่งอ่อน ตาดอก การเจริญของดอกและผล

นั่นเพราะธาตุแคลเซียมเป็นส่วนหนึ่งของผนังเซลล์พืชที่เรียกว่า “แคลเซียมเพคเตต” ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการป้องกันการเข้าทำลายของโรคและแมลง

หน้าที่และบทบาทของแคลเซียมในพืช

  • เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับสร้างผนังเซลล์พืช
  • รักษาความสมบูรณ์ของเยื่อหุ้มเซลล์
  • ควบคุมการลำเลียงสารอาหารในการเข้าและออกจากเซลล์
  • เป็นส่วนสำคัญของเอนไซม์หลายชนิดที่จำเป็นต่อกระบวนต่างๆในพืช

ประโยชน์ของธาตุอาหารรองแคลเซียม

  • ช่วยให้ผนังเซลล์พืชให้เจริญได้ดีและแข็งแรง
  • ช่วยให้ผักผลไม้มีความกรอบ เนื้อแน่น เก็บรักษาได้นานขึ้น
  • ช่วยให้พืชดูดซับธาตุไนโตรเจนไปใช้ได้มากขึ้น
  • พืชที่ได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอจะทำให้ผนังเซลล์แข็งแรง ลดการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืชบางชนิด
  • ช่วยให้กิ่งก้านมีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักผลผลิตได้ดี

การขาดแคลเซียมจะทำให้พืชเกิดปัญหาต่อไปนี้

พืชขาดแคลเซียม
กล้วยก้านใบยุบเนื่องจากขาดแคลเซียม

ถึงแม้แคลเซียมจะไม่ใช่ธาตุอาหารหลักแต่ก็เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการมากธาตุหนึ่งและจัดอยู่ในกลุ่มธาตุอาหารรอง (Secondary Macronutrients)คือมีความต้องการมากรองจากธาตุอาหารหลักอย่าง NPK เพราะถ้าพืชได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบทั้งการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต

  • พืชโตช้าแคระแกร็นการพัฒนาไม่ดีเนื่องจากธาตุแคลเซียมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขยายตัวของเซลล์พืช
  • เกิดอาการใบจุดในพืช ใบขาด
  • ในไม้ผลจะทำให้ผลร่วง โดยเฉพาะพืชบางชนิดที่มีอาการไวต่อการขาดธาตุแคลเซียมอย่างเช่น มะเขือเทศ และพริก ซึ่งการขาดแคลเซียมจะทำให้พืชอ่อนแอต่อโรค

อาการพืชขาดแคลเซียม

อาการพืชขาดแคลเซียม
อาการใบอ่อนเหลืองเนื่องจากแคลเซียม

ปัญหาของแคลเซียมคือเป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนย้ายในพืช การสะสมแคลเซียมของพืชขึ้นอยู่กับการคายน้ำ ใบซึ่งเป็นส่วนที่มีการคายน้ำมาก ใบพืชจึงเป็นส่วนที่มีการสะสมของแคลเซียมอยู่มาก

อาการขาดแคลเซียมมักพบที่ยอดอ่อน ใบอ่อนจะม้วนงอ แผ่ขยายไม่เต็มที่ ใบขาด หรือเกิดอาการปลายใบไหม้ที่เรียกว่า Tip burn ถ้าพืชขาดแคลเซียมอย่างรุนแรง จะทำให้ยอดและใบอ่อนแห้งตายเพราะแคลเซียมเป็นธาตุที่เกี่ยวกับการแบ่งเซลล์และขยายเซลล์พืชโดยตรง

และอาการขาดแคลเซียมยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตของรากด้วย รากที่ขาดแคลเซียมจะมีสีคล้ำ ไม่อวบ การขาดแคลเซียมในไม้ผลมักแสดงออกที่ผลด้วย เพราะเป็นส่วนที่มีการคายน้ำน้อย นอกจากนี้การขาดแคลเซียมอาจทำให้พืชขาดธาตุโพแทสเซียม เนื่องจากแคลเซียมมีส่วนช่วยให้พืชดูดธาตุโพแทสเซียมไปใช้

การเติมแคลเซียมในดิน เพื่อแก้อาการพืชขาดธาตุแคลเซียม

การขาดธาตุแคลเซียมมักเกิดจากสารละลายดินที่เป็นกรดคือมีค่า PH ต่ำกว่า 5 แก้โดยเติมปูนเพื่อเพิ่มค่า PHให้อยู่ในช่วง 5.5-6.5 ซึ่งเป็นช่วงค่าความเป็นกรด-ด่างที่ทำให้พืชดูดซับธาตุอาหารได้ดีเกือบทุกธาตุ

ส่วนประกอบของปูนหรือสารที่ใช้เพื่อเพิ่มค่าPHดิน จะมีส่วนประกอบของแคลเซียม ในปูนแต่ละชนิดจะมีแคลเซียมในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน

-ให้ทางดินโดยใช้ปูน ได้แก่ ปูนขาว , โดโลไมท์ ,ปูนมาร์ล,และยิปซั่ม หรือเปลือกหอยเผา ป่น ลงดิน เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเติมธาตุแคลเซียมลงในดิน

-ฉีดพ่นทางใบ ในกรณีพืชขาดธาตุแคลเซียมหรือได้รับไม่เพียงพอให้ฉีดพ่นทางใบด้วย ปุ๋ยเกล็ด แคลเซียมไนเตรท( Calcium Nitrate) หรือแคลเซียมโบรอน

ดังนั้นวิธีที่ดีในการป้องกันพืชขาดแคลเซียมคือการเติมสารประกอบที่มีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบลงในดินจะช่วยให้รากพืชดูดซับไปใช้ได้เมื่อพืชต้องการ

ข้อควรระวัง : ก่อนการใช้ปูนต้องมีการตรวจเช็คค่าความเป็นกรด-ด่างของดินก่อน เพราะถ้าดินมีความเป็นด่าง (alkaline soil) (PH สูงกว่า 7 )หรือเป็นดินเค็มอยู่แล้ว การเติมปูนจะทำให้ดินเป็นด่างมากยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาดินด่างทำได้ยากกว่าดินกรด ถึงแม้จะทำได้โดยใช้สารเคมีแต่ก็มีต้นทุนที่สูงมาก ซึ่งไม่คุ้มค่า