รายละเอียดเพิ่มเติม
ไนโตรเจน (Nitrogen)จัดเป็นธาตุอาหารหลัก (Primary nutrient element )เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณมากและเป็นธาตุที่มีอยู่ในดินน้อย แต่พบอยู่ในอากาศเป็นจำนวนมากถึง 78% จึงมีความจำเป็นต้องใส่ลงไปในดินในรูปปุ๋ยชนิดต่างๆ
พืชสามารถได้รับแร่ธาตุไนโตรเจนได้หลายทาง เช่นการสลายตัวของอินทรีย์วัตถุ หรือได้จากการตรึงไนโตรเจนจากอากาศโดยจุลินทรีย์บางชนิด

ประโยชน์ของธาตุไนโตรเจนในพืช
ช่วยสร้างการเติบโตทางด้านใบและลำต้น และยังเป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์(Chlorophyll)ช่วยในการสังเคราะห์แสง และพืชยังต้องการธาตุไนโตรเจนเพื่อใช้ในการสร้างสารประกอบในพืชอีกหลายชนิด เช่น กรดอะมิโน (Amino acid ) โปรตีน (Proteins) กรดนิวคลีอิก (Nucleic acid) และน้ำตาล (Sugar)
และนอกนี้ยังมีสารประกอบไนโตรเจนอีกกลุ่มนั้นคือ เอ็นไซม์ (enzyme) หน้าที่ของเอ็นไซม์นี้คือเป็นตัวเร่งกระบวนการทางชีววิทยาในพืช (Biological process)
ไนโตรเจนมีความสำคัญในพืชทุกชนิดเพราะธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบของกรดนิวคลีอิกและโปรตีนทุกชนิดซึ่งเป็นสารประกอบที่พืชต้องสร้างขึ้นมาใช้กระบวนการสร้างการเจริญเติบโต
ไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่สำคัญมากในการสร้างการเจริญเติบโตในพืช พืชที่ได้รับธาตุไนโตรเจนอย่างเพียงพอ ใบจะเขียวสด มีลำต้นแข็งแรง มีการเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตที่สมบูรณ์
อาการขาดธาตุไนโตรเจนในพืช
พืชที่ขาดไนโตรเจนจะมีลักษณะใบสีเหลือง โดยเกิดที่ใบแก่ก่อน และทำให้การเจริญเติบโตของพืชหยุดชะงัก
อาการของพืชที่ได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป
ไนโตรเจนถึงพืชจะต้องการในปริมาณมาก แต่เมื่อพืชได้รับมากเกินไปก็เกิดผลเสียต่อพืชเช่นกัน โดยพืชที่ได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไปจะมีลำต้นอวบน้ำ ล้มง่าย และยังเป็นสาเหตุทำให้โรคและแมลงเข้ารบกวนพืชอีกด้วย
ผลของการได้รับไนโตรเจนมากเกินไปอาจส่งผลเสียผลผลิตด้วยเช่นกัน ทำให้ต้นมันไม่ลงหัว แป้งน้อย ,ทำให้อ้อยจืด ไม่หวาน ,ทำให้ส้มมีกากมาก มีรสเปรี้ยว
แหล่งธาตุไนโตรเจนที่พืชสามารถนำมาใช้ได้
เนื่องจากไนโตรเจนเป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของก๊าซ โดยพืชสามารถใช้ไนโตรเจนเหล่านี้ได้ผ่านวัฏจักรของไนโตรเจนได้หลายทางด้วยกัน
การตรึงไนโตรเจนในอากาศ (Nitrogen Xation)
โดยใช้แบคทีเรียบางชนิดที่มีความสามารถจับหรือใช้ธาตุไนโตรเจนในอากาศได้ ซึ่งเป็นรูปที่พืชใช้ไม่ได้แล้วเปลี่ยนให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ เช่น ไรโซเบียม (Rhizobium)ในปมรากถั่ว และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน
การแปรรูปไนโตรเจนในดิน (Mineralization)
เป็นการแปรรูปจากสารอินทรีย์ที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ผ่านกระบวนการทางชีวเคมีโดยอาศัยจุลินทรีย์ในดินทำการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ จนได้ไนโตรเจนที่อยู่ในรูปสารอนินทรีย์เป็นรูปที่พืชดูดซับไปใช้ได้
ไนโตรเจนในบรรยากาศที่ละลายลงมากับน้ำฝน
ไนโตรเจนในอากาศที่อยู่ในรูปของสารประกอบออกไซด์สามารถละลายกับน้ำฝนตกลงมาสู่ดิน แล้วถูกแปรสภาพไปเป็นแอมโมเนียมและไนเตรท ซึ่งเป็นรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
ไนโตรเจนที่ได้จากปุ๋ย ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยสูตร(ปุ๋ยเคมี)หรือปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนในปริมาณสูง ตัวอย่างปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง เช่น ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7 ,15-15-15 เป็นต้น นอกจากปุ๋ยเคมี ยังมีปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่เป็นการผสมระหว่างเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์เช่น ปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตร 6-3-3
นอกจากปุ๋ยทั้ง2ประเภทที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูงตามสูตรที่กำหนดแล้ว ยังมีปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ได้จากวัสดุธรรมชาตินำมาผ่านขั่นตอนกระบวนการย่อยสลายอย่างสมบูรณ์เพื่นำมาใช้เป็นปุ๋ยให้กับพืช
ไนโตรเจนที่อยู่ในปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก จะมีปริมาณที่ไม่แน่นอนเหมือนปุ๋ยเคมีหรืออินทรีย์เคมี
วิธีเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดิน
ใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ
ใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์เคมี
ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก
คือปุ๋ยทีนำวัสดุจากธรรมชาติมาผ่านการหมักหรือผ่านกระบวนการที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งปริมาณธาตุไนโตรเจนในปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาผลิตว่าเป็นชนิดใด เช่นปุ๋ยอินทรีย์จากผักตบชวาจะมีปริมาณธาตุไนโตรเจนน้อยกว่าปุ๋ยอินทรีย์ทีผลิตจากซากสัตว์ต่างๆเช่น ปุ๋ยอินทรีย์จากปลาทะเล
ใส่ปุ๋ยคอก
คือปุ๋ยจากมูลสัตว์ที่ตากแห้งหรือทิ้งไว้จนกลายเป็นมูลเก่าแล้ว มูลสัตว์เหล่านี้จะให้ปริมาณแร่ธาตุไนโตรเจนไม่เท่ากัน
คำถามที่พบบ่อย (Frequently Asked Questions)
วิธีเติมธาตุไนโตรเจนลงในดินเพื่อให้พืชนำไปใช้ได้เร็วที่สุด
ใช้ปุ๋ยน้ำที่มีไนโตรเจนสูงเนื่องจากอยู่ในรูปที่พืชใช้ได้ทันที แต่ก็ถูกชะล้างสูญเสียจากดินได้ง่ายเช่นกัน
วิธีเติมธาตุไนโตรเจนในดินแบบอินทรีย์ออแกนิคใช้อะไร
- ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยหมัก,น้ำหมักชีวภาพ
- ปุ๋ยคอกที่ทิ้งไว้นานแล้วหรือตากให้แห้ง
การใส่ปุ๋ยคอกที่มีธาตุไนโตรเจนสูงให้ต้นไม้เป็นประจำดีหรือไม่
ดีสำหรับไม้ใบแต่ก็ไม่ควรมากเกินไป อาจทำต้นไม้อ่อนแอต่อโรคและแมลง ส่วนการใส่ปุ๋ยคอกในไม้ดอกหรือในไม้ผล ต้องใส่ให้ถูกจังหวะ เพราะในปุ๋ยคอกมีไนโตรเจนสูงและสลายตัวช้าจะทำให้ไม้ผลและไม้ดอกออกดอกยาก หรืออาจจะไม่ออกดอกเลย มีแต่ใบ