วิธีใช้ไตรโคเดอร์มาสด ผสมน้ำฉีดพ่น
การใช้ไตรโคเดอร์มาสดผสมน้ำ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมหรือกำจัดโรคพืช ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและไม่ยุ่งยากเหมือนกับการผสมในปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ที่เราต้องเตรียมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก รำข้าว และต้องใช้พื้นที่สำหรับผสมคลุกเคล้า หรือไม่สะดวกที่จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกลงในแปลงปลูกในเวลานี้
ในบทความนี้เกษตรเลิฟนำเอาเทคนิคและวิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสดแบบผสมน้ำแล้วฉีดพ่นมาฝาก
ให้เราใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 250 กรัม (เชื้อสด 1 ถุง)ต่อน้ำ 50 ลิตร
ขั่นตอนการใช้เชื้อสดผสมน้ำมีดังนี้
- ใช้เชื้อสด 1 ถุง (250 กรัม ) เติมน้ำลงไปในถุงพอท่วมเชื้อ แล้วขยำเนื้อข้าวให้แตกออกเพื่อล้างเอาเชื้อราไตรโคเดอร์มา จะได้น้ำเชื้อสีเขียวเข้ม ให้กรองด้วยผ้าขาวบางหรือกระชอนตาถี่ๆ เพื่อป้องกันการอุดตันหัวฉีดเวลานำไปใช้ จากนั้นล้างกากเชื้ออีกครั้งด้วยน้ำอีกนิดหน่อนเพื่อให้เชื้อหลุดจากเมล็ดข้าวหมด แล้งเติมน้ำให้ครบ 50 ลิตร ก่อนนำไปใช้
การนำน้ำเชื้อสดไปใช้งาน
การฉีดพ่นลงในกระบะเพาะกล้า กระถางปลูก หรือถุงปลูก ช่วยควบคลุมเชื้อก่อโรคในดิน ช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ด
- ให้ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในกระบะเพาะกล้า หลังจากที่เราหยอดเมล็ดแล้ว และในระหว่างที่ต้นกล้ากำลังเจริญเติบโต
- การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดในถุงปลูกหรือกระถาง ให้เริ่มฉีดได้ตั้งแต่เริ่มต้นปลูกและในระหว่างการเจริญเติบโต โดยฉีดพ่นให้ดินเปียกชุ่ม
การฉีดพ่นลงในหลุมปลูก
- ฉีดพ่นหลังจากทำการเพาะเมล็ดแล้ว โดยฉีดพ่นให้ดินเปียกชุ่ม
- ฉีดพ่นหลังเชื้อสดลงในหลุมปลูกหลังจากย้ายกล้าลงหลุมแล้ว ให้ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดที่ผสมน้ำแล้วให้ดินเปียกชุ่ม
การฉีดพ่นลงแปลงเพาะปลูกพืช
- ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงแปลงปลูกพืชหลังจากหว่านเมล็ด แล้วให้คลุมแปลงด้วยฟาง โดยฉีดพ่นน้ำเชื้อสดผสมแล้วในอัตรา 10-20ลิตร/100 ตารางเมตร แล้วให้รดน้ำตามทันที
- ฉีดพ่นเชื้อสดลงแปลงปลูกใน อัตรา 10-20ลิตร/100 ตารางเมตร ก่อนคลุมแปลงด้วยพลาสติกดำ
- การฉีดพ่นกรณีที่พืชกำลังเจริญเติบโต ให้ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงแปลง ในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร
การฉีดพ่นเชื้อสดโคนต้นพืชและฉีดลงดินใต้บริเวณทรงพุ่ม
- ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดที่บริเวณโคนต้นพืชโดยให้ผิวดินพอเปียกชื้น
- ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงดินใต้ทรงพุ่ม และ ชายทรงพุ่มโดยฉีดพ่นให้ดินเปียกชื้น
เคล็ดลับการใช้เชื้อราไตรโคเดร์มาสด ให้ได้ผลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ควนฉีดพ่นในเวลาที่มีแดดอ่อน หรือ ช่วงเวลาเย็นในกรณีที่บริเวณที่ฉีดพ่นไม่มีร่มเงาจากพืชเลย
- ถ้าดินบริเวณที่จะฉีดพ่นแห้งมาก ควรให้น้ำก่อนเพื่อให้ดินมีความชื้อก่อนทำการฉีดพ่นเชื้อ หรือให้น้ำทันทีหลังฉีดพ่น เพื่อให้น้ำพาเชื้อไตรโคเดร์มาที่เราฉีดพ่นลงดิน
การใช้ เชื้อราไตรโคเดอร์ ฉีดพ่นให้กับพืชบ่อยๆ นอกจากช่วยควบคุมการเกิดโรคกับพืชแล้วยังช่วยให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยอีกด้วย และในการทำสวนเกษตอินทรีย์ การฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นประจำ จะช่วยเพิ่มปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มาในแปลงปลูก เมื่อเชื้อมีปริมาณมากก็สามารถควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดโอกาสเกิดการระบาดของโรคในแปลงปลูก ช่วยให้ลดการใช้สารเคมีลงได้